“ศัลยกรรมเสริมหน้าอก” ทางหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความฝันของสาว ๆ หลายคน ที่ไม่พอใจกับขนาดและรูปทรงหน้าอกของตัวเอง เพราะจากสาเหตุต่าง ๆ อย่าง พันธุกรรม ความผิดปกติแต่กำเนิด น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลง หรือผลกระทบหลังการตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ในการทำศัลยกรรมหน้าอก สำคัญคือต้องมีความรู้และเข้าใจประเด็นต่าง ๆ รอบด้านก่อนจะตัดสินใจค่ะ ตั้งแต่การเลือกขนาด รูปทรง และชนิดของซิลิโคน ไปถึงการทราบภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการได้หน้าอกใหม่ที่ไม่แค่สวยงาม แต่ต้องปลอดภัย และมั่นใจได้ระยะยาว

เสริมหน้าอก คืออะไร

รีวิวศัลยกรรมหน้าอก-9

เสริมหน้าอก หรือทางการแพทย์เรียกว่า “ศัลยกรรมเสริมเต้านม (Breast Augmentation)” คือการผ่าตัดเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้น ปรับปรุงรูปทรงให้ดูสวย กระชับ และสมส่วนกับรูปร่าง เป็นการแก้จุดบกพร่องของหน้าอกที่มีขนาดเล็กหรือไม่สมมาตร ช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความรู้สึกเป็นผู้หญิง และเสริมบุคลิกภาพ

การผ่าตัดเสริมหน้าอกจะทำโดยใส่ถุงซิลิโคนหรือเติมไขมันเข้าในเต้านม มีเทคนิคกับวิธีการหลากหลาย ที่ต้องอาศัยการประเมินและคำปรึกษาจากศัลยแพทย์ตกแต่งเป็นรายบุคคล เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะกับแต่ละคนค่ะ

ทำไมผู้หญิงถึงเลือกเสริมหน้าอก?

การเสริมหน้าอกเป็นการผ่าตัดความงามที่นิยมสูงในหมู่ผู้หญิง เพราะหน้าอกเป็นเสน่ห์และสัญลักษณ์ของความงามตามธรรมชาติของเพศหญิง มีความเชื่อมโยงกับความรู้สึกเป็นผู้หญิง และความมั่นใจ สาว ๆ ไม่น้อยเลยตัดสินใจเสริมหน้าอกด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น

  • ขนาดหน้าอกเล็กกว่าที่ต้องการ ไม่มั่นใจรูปร่างตัวเอง และรู้สึกจำกัดในการเลือกเสื้อผ้า
  • หน้าอกคู่ไม่สมมาตรกัน ไม่เท่ากัน หรือรูปทรงผิดปกติจนสังเกตได้ชัด
  • สูญเสียเนื้อเยื่อเต้านมจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านม หรือความผิดปกติอื่น ๆ
  • ต้องการกลับมามีหน้าอกที่กระชับ เต่งตึง หลังหย่อนคล้อยจากการลดน้ำหนักมาก หรือหลังการให้นมบุตร
  • อยากเพิ่มขนาดหน้าอกให้ได้สัดส่วน เติมเต็มทรวงอก เพื่อบุคลิกที่ดูดี มีเสน่ห์ขึ้น
  • ลดความกังวลและอึดอัดใจจากขนาดหน้าอกที่เล็ก รู้สึกดูเป็นเด็ก ขาดเสน่ห์ความเป็นผู้หญิง
  • รู้สึกกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ปรับปรุงจุดบกพร่องของรูปร่าง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความสุขให้ตัวเองมากขึ้น

ประเภทของการเสริมหน้าอก

เสริมหน้าอกสามารถทำได้หลายวิธี แบ่งตามประเภทของวัสดุที่ใช้ผ่าตัดเป็น 3 แบบหลัก ๆ คือ เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน เสริมหน้าอกด้วยไขมันจากตัวเอง และการเสริมหน้าอกแบบผสมผสาน วิธีการเหล่านี้มีข้อดี/ข้อเสีย และความเหมาะสมกับผู้รับบริการที่มีเงื่อนไขต่างกัน แนะนำศึกษารายละเอียดและปรึกษาศัลยแพทย์ เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสุดกับเป้าหมายและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลค่ะ

เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน

เป็นวิธีที่นิยมสุดในการทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก เพราะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกับก่อนทำชัดเจน สามารถเพิ่มขนาดหน้าอกได้มากตามต้องการ ปรับรูปทรงได้ละเอียด ซิลิโคนที่ใช้จะเป็นถุงซิลิโคนเกรดการแพทย์ที่มีความปลอดภัยสูง วัสดุไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย

ถุงซิลิโคนมีหลายแบบ เช่น รูปทรงกลม ทรงหยดน้ำ พื้นผิวเรียบหรือผิวทราย โดยศัลยแพทย์จะเลือกใช้ถุงซิลิโคนให้เหมาะกับสรีระ ความต้องการ และเป้าหมายของผู้เข้ารับการผ่าตัดแต่ละราย สามารถจัดวางตำแหน่งได้ทั้งใต้ต่อมน้ำนม ใต้กล้ามเนื้อ หรือกึ่งใต้กล้ามเนื้อ ซึ่งใช้เทคนิคการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนแตกต่างกันค่ะ

ข้อดีของซิลิโคน คือให้ผลลัพธ์ที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างแน่นอน เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน และหน้าอกดูธรรมชาติใกล้เคียงนมจริง แต่มีข้อจำกัด ในเรื่องการผ่าตัดที่ซับซ้อน การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดที่ค่อนข้างเข้มงวด ใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ซิลิโคนระยะยาวที่ต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

    เสริมหน้าอกด้วยไขมันตัวเอง

    การเสริมหน้าอกด้วยไขมัน เป็นการดูดไขมันส่วนเกินจากบริเวณอื่นของร่างกาย ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ แล้วนำมาฉีดเข้าในเต้านมอีกที เพื่อเพิ่มขนาด ปรับรูปทรง ข้อดีคือได้หน้าอกที่เป็นเนื้อเยื่อของตัวเอง รู้สึกนุ่มธรรมชาติ ไม่ต้องใส่วัสดุแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ผ่าตัดได้แผลเล็ก ไม่เสี่ยงจากภาวะถุงซิลิโคนแตกรั่ว หรือแคปซูลหดรัดตัว

    แต่ขณะเดียวกัน การเสริมด้วยไขมันตัวเองข้อจำกัดจะมากกว่า เพราะต้องมีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายมากพอที่จะนำมาฉีดเติมให้ได้ขนาดของหน้าอกใหม่ตามต้องการ ไขมันที่ฉีดไปอาจถูกดูดซึมกลับไปบางส่วน ทำให้ยากในการคาดเดาผลลัพธ์สุดท้าย 100% อีกทั้งเพิ่มขนาดหน้าอกได้ไม่มากเท่าการใส่ถุงซิลิโคน ทั่วไปสามารถเพิ่มขนาดได้ประมาณ 1 คัพ เหมาะกับสาวที่ต้องการปรับหน้าอกให้สวยขึ้น ไม่เน้นที่การเปลี่ยนแปลงขนาดมาก

    เสริมหน้าอกแบบผสมผสาน

    เป็นการนำข้อดีของซิลิโคนและไขมันตัวเองรวมกัน โดยใช้ถุงซิลิโคนเสริมเป็นโครงสร้างหลัก กำหนดขนาดและรูปทรงคร่าว ๆ แล้วใช้การฉีดไขมันตามขอบและด้านข้าง เพื่อเติมเต็มส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ ช่วยปรับรูปทรงและเพิ่มความเป็นธรรมชาติมากขึ้น หน้าอกดูกลมกลืนเคลื่อนไหวสวยงาม ส่วนไขมันที่ฉีดเข้าไปยังช่วยซ่อนขอบของถุงซิลิโคน ไม่ให้ปูดโปนนูนขึ้นมาให้เห็น

    ศัลยกรรมหน้าอกแบบผสมผสาน จะเหมาะกับสาวที่มีบริเวณหน้าอกบาง คลำได้ถึงถุงซิลิโคน มีรอยย่น ก้อนไม่เรียบเนียน หรือมีรูปทรงทรวงอกผิดปกติที่ต้องอาศัยการปรับแต่งมากขึ้น ข้อดีคือให้ผลลัพธ์ดูกลมกลืนเป็นธรรมชาติที่สุด แต่มีข้อเสียเรื่องค่าใช้จ่ายที่มากกว่า การฟื้นตัวนานกว่า รวมถึงความเสี่ยงของทั้งไขมันและซิลิโคนค่ะ

    ขั้นตอนการเสริมหน้าอก

    กระบวนการศัลยกรรมเสริมหน้าอก ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญหลายอย่างที่ต้องเตรียมและดำเนินอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่หาข้อมูล เลือกศัลยแพทย์ การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ไปถึงการผ่าตัดจริงและการพักฟื้น ดังนี้

    การเตรียมตัวก่อนเสริมหน้าอก

    ก่อนผ่าตัดเสริมหน้าอก สำคัญคือผู้รับบริการต้องมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมสำหรับการมีหน้าอกใหม่ เริ่มตั้งแต่การปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินโครงสร้างหน้าอก สภาพผิวหนัง กล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น กำหนดขนาด ตำแหน่ง และเลือกประเภทซิลิโคนหรือวิธีการเสริมที่เหมาะสม รวมถึงเข้าใจขั้นตอน ผลลัพธ์ที่คาดหวัง ความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน และระยะเวลาพักฟื้นค่ะ

    การเตรียมสุขภาพทั่วไปก่อนวันผ่าตัดเสริมหน้าอก

    • ตรวจสุขภาพ เจาะเลือด เอกซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อคัดกรองความพร้อมในการดมยาสลบ
    • งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการสำลักเข้าปอดขณะดมยาสลบ
    • หยุดยาละลายลิ่มเลือด วิตามิน หรืออาหารเสริมบางชนิด เพื่อลดความเสี่ยงภาวะเลือดออกผิดปกติ
    • งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ ก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการหายของแผล
    • กรณีมีประจำเดือน ควรเลื่อนวันผ่าตัดออกไป เพราะจะมีเลือดออกมากกว่าปกติ
    • วางแผนเดินทางมาสถานพยาบาล เตรียมเสื้อผ้าหลวม ๆ ให้พร้อม และมีญาติหรือเพื่อนมาดูแลอย่างน้อย 2-3 วันแรก

    กระบวนการผ่าตัดเสริมหน้าอก

    เมื่อถึงวันผ่าตัดจริง ผู้ป่วยต้องมาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลานัด จะมีพยาบาลมาเตรียมตัว เช็คชื่อ วัดสัญญาณชีพ และให้ยาระงับประสาทก่อนนำเข้าห้องผ่าตัดปลอดเชื้อค่ะ ทีมวิสัญญีจะให้ยาชาเฉพาะที่และยาสลบ เมื่อผู้ป่วยหลับลึกแล้ว ศัลยแพทย์จะเริ่มผ่าตัดตามขั้นตอน คือ

    1. กรีดแผลเปิดผิวหนัง ขนาดประมาณ 3-5 ซม. ตามตำแหน่งที่กำหนด อาจเป็นใต้ราวนม ใต้รักแร้ หรือรอบหัวนม
    2. สอดใส่ถุงซิลิโคนเข้าในช่องว่างที่เตรียมไว้ โดยจะวางไว้ใต้ต่อมน้ำนม เหนือหรือใต้กล้ามเนื้อหน้าอก
    3. ปรับขนาด ความสมมาตร และรูปทรงของถุงซิลิโคนให้ได้ตามต้องการ อาจใช้ตัวช่วยกางหรือพยุงถุงให้อยู่ในตำแหน่ง
    4. เย็บปิดผิวหนังและแผลผ่าตัด ประคบเย็นและพันผ้าก๊อซเพื่อกระชับหน้าอกชั่วคราว

    ทั่วไปผ่าตัดใช้เวลา 1-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประเภทการผ่าตัด ความยากง่าย และทักษะความชำนาญของศัลยแพทย์ จากนั้นถึงนำผู้ป่วยไปพักฟื้นที่ห้องหลังผ่าตัดจนกว่าจะรู้สึกตัว สัญญาณชีพปกติ ค่อยย้ายไปห้องพักฟื้นปกติ ส่วนใหญ่จะต้องค้างคืนที่สถานพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน ภายใต้การสังเกตอาการและให้ยาแก้ปวดอย่างใกล้ชิด

    การดูแลหลังเสริมหน้าอก

    หลังผ่าตัดเสริมหน้าอก 2-3 วันแรก เป็นช่วงสำคัญที่ต้องพักฟื้น ปฏิบัติตัวอย่างระมัดระวัง ตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็ว ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด มีข้อควรปฏิบัติเบื้องต้น เช่น

    • สวมเสื้อซับในพยุงหน้าอก (Support Bra) ตลอดเวลา เพื่อประคองหน้าอกให้อยู่ในตำแหน่ง ลดอาการบวมและอักเสบ
    • งดยกของหนักเกิน 3-5 กิโลกรัม เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือยกแขนสูงเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
    • หลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวเร็วขึ้นฃ
    • หมั่นทำแผลให้สะอาดและแห้งเสมอ โดยใช้ยาและวิธีการตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
    • กลับมาตรวจตามนัดเพื่อติดตามผลและรักษาต่อเนื่อง ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการปวด บวม แดง หรือมีไข้สูง

    หลัง 1-2 เดือนแรก เมื่อแผลหายดีแล้ว ศัลยแพทย์จะแนะนำวิธีการนวดคลึงหน้าอก สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ถุงซิลิโคนเข้าที่ ไม่เกิดแคปซูลหดรัด หน้าอกไม่แข็งผิดรูปหรือปวดเจ็บในระยะยาว การนวดคลึงแนะนำทำต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หรือกว่าจะมั่นใจว่าหน้าอกนิ่มและมีรูปทรงสวยคงที่แล้วค่ะ

    การเลือกซิลิโคนเสริมหน้าอก

    ความแตกต่างของ “ซิลิโคนเสริมหน้าอก

    การผ่าตัดเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน เริ่มที่การเลือกถุงซิลิโคนให้เหมาะกับสรีระ รสนิยม และความคาดหวังของแต่ละบุคคลค่ะ เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ต้องพิจารณารอบด้าน โดยศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและให้คำแนะนำแบบเฉพาะบุคคล

    ประเภทของซิลิโคน

    ซิลิโคนเสริมหน้าอก ปัจจุบันที่นิยม จะแบ่งตามสารที่บรรจุภายในเป็น 2 ประเภทหลัก

    • ซิลิโคนเจล (Silicone Gel) เป็นสารเจลซิลิโคนที่ยืดหยุ่น คงรูป มีความหนาแน่นใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อจริง ให้สัมผัสที่นุ่มธรรมชาติ เคลื่อนไหวได้ลื่นไหล ไม่มีเสียงน้ำในถุง แต่น้ำหนักมากกว่าซิลิโคนน้ำเกลือ
    • ซิลิโคนน้ำเกลือ (Silicone Saline) เป็นถุงซิลิโคนเปล่า เมื่อวางได้ตำแหน่งแล้วจะฉีดน้ำเกลือเข้าไปจนได้ขนาดตามต้องการ ข้อดีคือสามารถปรับขนาดได้ภายหลัง และกรณีเกิดการรั่วซึมสารที่ออกมาจะเป็นน้ำเกลือ ไม่อันตรายต่อร่างกาย ข้อเสียคือให้สัมผัสที่กระด้างกว่าเจลซิลิโคน และอาจมีเสียงน้ำในถุงเวลาขยับตัว

    รูปทรงของซิลิโคน

    นอกจากเนื้อสารภายใน ซิลิโคนเสริมหน้าอกยังแตกต่างกันตามรูปทรงภายนอกอีก 3 แบบ ที่ให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน คือ

    • ทรงกลม (Round) ลักษณะเป็นครึ่งวงกลมทั้งสองด้าน ขอบโค้งมนเท่ากันหมด เหมาะสำหรับคนที่ต้องการอกอิ่ม เต่งตึง ดูเด้งและเป็นธรรมชาติ (ถ้าไม่เสริมใหญ่เกินพอดี) อกจะดูกลมได้รูปกว่าทรงหยดน้ำ
    • ทรงหยดน้ำ (Teardrop) หรือที่เรียกว่า “ทรงอนาทอมิคอล (Anatomical)” มีลักษณะเป็นรูปหยดน้ำ ด้านบนแบนกว่าด้านล่าง และป่องสูงบริเวณหัวนม ตำแหน่งนูนจะอยู่ต่ำกว่าทรงกลม ทำให้ได้ทรวงอกที่ธรรมชาติและมีมิติที่สุด ข้อเสียคือผ่าตัดยากกว่า ใช้เวลานานกว่า ความเสี่ยงสูงกว่า และมีโอกาสที่ถุงจะหมุนตัว ไม่เข้าที่ภายหลังได้
    • ทรงกึ่งกลม (Semi-round) รูปทรงระหว่างทรงกลมกับหยดน้ำ คือจะออกทรงกลมแต่ด้านล่างจะหนากว่าด้านบนเล็กน้อย ให้ลุคที่ธรรมชาติระดับกลาง ๆ มีความเสี่ยงต่ำ และนิยมมากสุดในปัจจุบัน เพราะได้จุดเด่นของทั้งสองแบบเลยค่ะ

    ขนาดของซิลิโคน

    ขนาดของซิลิโคนจะบอกปริมาตรเป็น “ ซีซี (cc) ” เริ่มตั้งแต่ 150-800 ซีซี สามารถเทียบเป็นคัพไซส์ได้คร่าว ๆ ตามนี้

    • เพิ่มประมาณ 1 คัพ ใช้ซิลิโคนขนาด 200-300 ซีซี
    • เพิ่มประมาณ 2 คัพ ใช้ซิลิโคนขนาด 300-400 ซีซี
    • เพิ่มประมาณ 3 คัพ ใช้ซิลิโคนขนาด 400-500 ซีซี

    การเลือกขนาดซิลิโคนจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งขนาดรอบอก ความกว้างของหน้าอก ระยะห่างระหว่างหัวนม ความยืดหยุ่นของผิวหนัง และปริมาณไขมันเดิม เพื่อให้ได้ขนาดที่ไม่ใหญ่หรือเล็กเกิน ดูกลมกลืนกับโครงสร้างทรวงอก และไม่เป็นภาระของร่างกายจนเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาค่ะ

    ผิวสัมผัสของซิลิโคน

    • ผิวเรียบ (Smooth) ถุงซิลิโคนสามารถเคลื่อนไหวได้อิสระ และให้สัมผัสที่นุ่ม หน้าอกดูเป็นธรรมชาติ เป็นทางเลือกนิยมของคนส่วนใหญ่ ข้อเสียคือเสี่ยงต่อการเกิดแคปซูลหดรัดมากกว่า จำเป็นต้องบีบนวดสม่ำเสมอเพื่อคลายการยึดติด
    • ผิวทราย (Textured) ช่วยเพิ่มแรงยึดระหว่างตัวถุงกับกล้ามเนื้อหน้าอก ป้องกันการเคลื่อนหมุนของถุงซิลิโคนทรงหยดน้ำ ลดการเกิดแคปซูลหดรัดได้ดีกว่าแบบเรียบ แต่อาจมีรอยย่นหรือสัมผัสไม่เรียบเนียนเท่า และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง (ALCL) ที่สัมพันธ์กับพื้นผิวขรุขระโดยเฉพาะรุ่นเก่าบางชนิด
    • ผิวนาโน (Nano-textured) หรือ ไมโครเท็กซ์เจอร์ ที่ผสานข้อดีของผิวเรียบและผิวทรายเข้าด้วยกัน มีสัมผัสที่นุ่มเนียนใกล้เคียงแบบเรียบ แต่ช่วยลดการเกิดแคปซูลได้ดีเหมือนแบบทราย และไม่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

    เทคนิควางซิลิโคนเสริมหน้าอก

    เทคนิคการผ่าตัดเสริมหน้าอกยกกระชับแบบต่างๆ

    หลังเลือกถุงซิลิโคนเสริมหน้าอก ต่อไปคือการกำหนดแผนการผ่าตัด จุดสำคัญอยู่ที่เทคนิคการวางตำแหน่งของถุงซิลิโคน เพราะมีผลโดยตรงต่อความธรรมชาติ ความคงทนถาวร การเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงความยากง่ายและระยะเวลาการฟื้นตัว

    ปัจจุบัน สามารถวางถุงซิลิโคนได้หลายระดับชั้น ทั้งเหนือกล้ามเนื้อ ใต้กล้ามเนื้อ และระนาบผสมผสาน การเลือกเทคนิคไหนในการวางถุงซิลิโคน จะต้องผ่านการประเมินโดยศัลยแพทย์จากโครงสร้างร่างกายและสภาพเต้านมของผู้รับการผ่าตัดเป็นรายบุคคลค่ะ

    1. วางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ (Subglandular)

    การวางถุงซิลิโคนไว้ใต้ต่อมน้ำนม แต่อยู่เหนือกล้ามเนื้อหน้าอก (Pectoralis muscle) เป็นเทคนิคดั้งเดิมสำหรับผู้ที่หน้าอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อเยื่อหนาและหย่อนคล้อยระดับหนึ่ง แต่กล้ามหน้าอกบางหรือไม่ค่อยออกกำลังกาย

    ข้อดีคือหมอสามารถเข้าถึงบริเวณผ่าตัดได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน แผลหายไว และหน้าอกจะเคลื่อนไหวได้อิสระ เพราะไม่ไปรบกวนการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหน้าอก แต่ข้อจำกัดคือ ถ้าชั้นผิวหนังและไขมันบางเกินจะทำให้คลำได้ถึงขอบถุงซิลิโคน มองเห็นรอยคลื่นไหวหรือย่นของพื้นผิวถุงง่าย และเสี่ยงต่อภาวะแคปซูลหดรัดมากกว่าเทคนิคแบบอื่นค่ะ

    2. วางซิลิโคนใต้กล้ามเนื้อ (Submuscular)

    ทางกลับกัน การเลือกวางถุงซิลิโคนไว้ด้านหลังของกล้ามเนื้อหน้าอก ตำแหน่งนี้จะให้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติกว่า เพราะมีชั้นกล้ามเนื้อช่วยซ่อนรอยต่อและขอบของถุงซิลิโคนไว้ ผิวเต้านมด้านหน้าจะเรียบเนียน ไม่เป็นคลื่นหรือปูด และเสี่ยงต่อการเกิดแคปซูลหดรัดน้อยกว่าด้วย

    เทคนิคนี้เหมาะกับสาวที่หน้าอกค่อนข้างแบน ไขมันน้อย หรือผิวหนังบาง ไม่สามารถวางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อได้ค่ะ แต่ข้อจำกัดคือ การผ่าตัดจะทำได้ยากกว่า ต้องกรีดแผลกว้างขึ้น เจ็บและบวมมากกว่า ฟื้นตัวช้า ซึ่งในช่วงแรกเต้านมจะดูผิดรูปจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนถึงผลลัพธ์จะเข้าที่ และเสี่ยงต่อการเลื่อนหลุดของถุงซิลิโคนสูงกว่าการวางซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อ

    3. วางซิลิโคนแบบ Dual Plane

    การวางซิลิโคนแบบ Dual Plane เป็นวิธีที่ผสานข้อดีของสองเทคนิคก่อนหน้าเข้าด้วยกัน โดยแบ่งวางถุงซิลิโคนเป็น 2 ระนาบ คือ ส่วนบนจะอยู่ใต้กล้ามเนื้อ ส่วนล่างจะอยู่เหนือกล้ามเนื้อ ทำให้ครึ่งบนของเต้านมดูธรรมชาติ ขอบไม่ชัด ส่วนครึ่งล่างจะออกมานูนอิ่มเต็มทรง แก้ปัญหาเต้านมห่างหรือหย่อนคล้อยได้ดี

    ข้อดีคือช่วยลดความเสี่ยงของแคปซูลหดรัด ได้รูปทรงที่สวยกว่าการวางใต้กล้ามอย่างเดียว และไม่ต้องรอให้ผลลัพธ์เข้าที่นานแบบวางใต้กล้ามค่ะ มีข้อจำกัดคือ ความยุ่งยากในการผ่าตัด ศัลยแพทย์ต้องมีความชำนาญเฉพาะทางสูง เสี่ยงต่อการเกิดเลือดคั่ง และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนอย่าง น้ำเหลืองคั่ง หรือหัวนมบวมช้ำ ได้มากกว่า

    ตำแหน่งแผลผ่าตัดเสริมหน้าอก

    การผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถเลือกตำแหน่งรอยแผลกรีดบนผิวหนังได้ ตามความเหมาะสมกับสรีระและความต้องการแต่ละคน แต่ความเป็นจริง ตำแหน่งแผลผ่าตัดจะถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางกายวิภาคหลายอย่าง รวมถึงชนิดและขนาดถุงซิลิโคนที่ใช้

    แผลผ่าตัดที่ดีควรมีขนาดเล็กสุดเท่าที่ทำได้ แต่ก็ต้องกว้างพอให้ศัลยแพทย์สามารถจะสอดใส่ถุงซิลิโคนเข้าไปได้ปลอดภัย ไม่ฉีกขาดหรือช้ำเกิน อยู่ในตำแหน่งที่ปิดได้สนิท และไม่กระทบต่อเนื้อเยื่อสำคัญ รวมถึงสามารถซ่อนได้มิดชิดเมื่อแผลหายสนิทค่ะ

    แผลใต้ราวนม (Inframammary crease)

    ตำแหน่งแผลใต้ราวนมเป็นที่นิยมสูงปัจจุบัน เพราะเข้าถึงตำแหน่งผ่าตัดได้ง่าย ปลอดภัย สามารถสอดใส่ถุงเข้าจัดวางได้แม่นยำ ได้รูปทรงสมมาตรเท่ากันทั้งสองข้าง การผ่าตัดทำได้เร็ว เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว และซ่อนแผลในร่องใต้ฐานราวนมได้เนียนสนิท แถมใช้เป็นทางผ่าตัดสำหรับแก้ไขหรือเปลี่ยนถุงซิลิโคนในอนาคตได้ด้วย

    ข้อจำกัดคือ กรณีที่ราวนมอยู่สูงติดกับถุงซิลิโคน จะทำให้ถุงดันออกมาเป็นขอบนูนได้ และถ้ามีแผลเป็นนูนขึ้น ก็อาจมองเห็นได้เวลาสวมบิกินีหรือชุดล่างอกต่ำค่ะ

    แผลรอบปานนม (Periareolar)

    การกรีดรอบขอบหัวนมที่ต่อกับผิวอ่อนบริเวณปานนม แผลจะเล็กและกลืนไปกับผิวคล้ำได้ดี ทำแล้วแผลเรียบเนียนแทบไม่เห็นว่าเคยผ่าตัด เหมาะกับสาวผิวสองสีที่หัวนมใหญ่ สีเข้ม และมีราวนมกว้างพอจะซ่อนรอยแผลได้หมด มีข้อจำกัดคือ ต้องกรีดรอบหัวนม 1 ใน 3 ถึงครึ่งวง อาจทำให้เกิดแผลแยก หัวนมบวม ชา หรือผิดรูปไป รวมถึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากท่อน้ำนมที่เปิดออกขณะผ่าตัด ยุ่งยากในการดูแลแผลมากกว่าแบบอื่น

    แผลใต้รักแร้ (Axillary)

    แผลบริเวณใต้วงแขนด้านในติดลำตัว เป็นตำแหน่งที่ซ่อนรอยแผลได้มิดชิดสุดเพราะไกลจากเต้านม ไม่ว่าแผลเป็นจะหนาหรือนูน ก็ไม่มีทางเห็นได้จากภายนอก เหมาะกับสาวที่เป็นแผลเป็นง่าย มีปัญหาสีผิว หรือต้องการความเป็นส่วนตัวสูง

    ข้อจำกัดคือ เป็นวิธีที่ทำได้ยาก ต้องอาศัยอุปกรณ์พิเศษ ใช้เวลานาน ทำให้เจ็บและบวมมาก ไม่สามารถใส่ถุงซิลิโคนขนาดใหญ่ได้เพราะรูแผลจำกัด และอาจวางตำแหน่งถุงได้ไม่แม่นยำเท่าแผลใต้ราวนม ส่วนใหญ่ได้ผลลัพธ์ไม่ค่อยจะดูดี ปัจจุบันไม่นิยมค่ะ

    ผลข้างเคียงและความเสี่ยง การเสริมหน้าอก

    ศัลยกรรมเสริมหน้าอกมีความปลอดภัยสูง หากทำโดยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญและใช้อุปกรณ์มาตรฐาน แต่เหมือนกับทุกการผ่าตัดใหญ่ ก็ยังมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนได้ ทั้งแบบเกิดทันทีหลังผ่าตัด หรือค่อย ๆ แสดงอาการระยะยาวค่ะ

    ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หลังเสริมหน้าอก

    ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้น

    (1-2 สัปดาห์หลังผ่าตัด)

    • อาการบวม เจ็บ และรอยช้ำ บริเวณเต้านมและรอบ ๆ แผลผ่าตัด
    • แผลผ่าตัดมีเลือดหรือน้ำเหลืองซึม แผลแยก หรือหลุดจากกัน
    • หัวนมมีอาการชา เสียวซ่า หรือสูญเสียความรู้สึก
    • เกิดจุดจ้ำเลือด หรือเส้นเลือดขอดใต้ผิวบริเวณหน้าอก
    • มีไข้ หนาวสั่น และอาการของภาวะติดเชื้อ
    • อาการแพ้ หรือแทรกซ้อนจากยาระงับความรู้สึก/ยาชา

    ภาวะแทรกซ้อนระยะกลาง

    (1-3 เดือนหลังผ่าตัด)

    • เต้านมอักเสบ ติดเชื้อ มีหนอง ต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
    • เกิดพังผืดหดรัดรอบถุงซิลิโคน ทำให้เต้านมแข็งและเจ็บ ระยะนี้อาจคลายเองได้ด้วยการนวด
    • แผลเป็นนูน (คีลอยด์) หรือสีผิดปกติบริเวณรอยแผลเป็น
    • ผิวหน้าอกบางลง ขาดความยืดหยุ่น เหี่ยวย่น หรือเกิดรอยแตกลาย
    • ถุงซิลิโคนเกิดการเคลื่อน เบนตำแหน่งไปจากเดิมเล็กน้อย

    ภาวะแทรกซ้อนระยะยาว

    (มากกว่า 3 เดือนขึ้น)

    • เกิดแคปซูลาร์คอนแทรคเจอร์ (Capsular contracture) ภาวะที่ร่างกายสร้างถุงหุ้มล้อมรอบซิลิโคนหนาตัวขึ้น บีบรัดทำให้เต้านมผิดรูป กดเจ็บ และแข็ง รักษาได้โดยการผ่าตัดแก้ไข
    • ถุงซิลิโคนมีการเคลื่อน หมุนตัว บิดเบี้ยว จนทำให้เต้านมเสียรูปทรง
    • ขอบหรือรอยย่นของถุงซิลิโคนปรากฎให้เห็นผ่านผิวที่บางลง
    • ถุงซิลิโคนฉีกขาดหรือรั่วซึม ต้องผ่าตัดนำซิลิโคนเก่าออกและใส่อันใหม่
    • เต้านมเกิดภาวะหย่อนคล้อยตามวัย ไม่กระชับ หรือไม่เท่ากัน ต้องเข้ารับการแก้ไขเพิ่มเติม

    อาการหลังเสริมหน้าอกที่ต้องรีบพบแพทย์

    หลังทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วค่ะ

    • ไข้สูง หนาวสั่น
    • บริเวณแผลมีการบวม แดง ร้อน ปวดมาก มีหนองไหล อาจติดเชื้ออักเสบรุนแรง
    • เกิดก้อนแข็งเจ็บใต้ผิวหน้าอก
    • เต้านมข้างใดข้างหนึ่งอักเสบ เจ็บ บวมแดงกว่าอีกข้าง
    • หลังผ่าตัด 5-7 วัน รู้เจ็บหน้าอกมากและไม่ดีขึ้นเลย
    • หน้าอกมีรอยบุ๋ม ยุบ หรือมีก้อน คล้ายถุงแตกหรือรั่ว
    • แผลผ่าตัดมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมากผิดปกติ
    • หน้าอกแข็ง ผิดรูปไปจากเดิมมาก

    ข้อพิจารณาก่อนตัดสินใจเสริมหน้าอก

    การศัลยกรรมเสริมหน้าอก เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีความเสี่ยงและมีผลกระทบต่อร่างกายระยะยาว การตัดสินใจจะเข้ารับการผ่าตัด แนะนำไม่ควรใช้อารมณ์ชั่ววูบ แต่ต้องมีการหาข้อมูล และวางแผนมาอย่างดี โดยคำนึงถึงเรื่องหลัก ๆ ตามนี้

    เลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษา

    หัวใจสำคัญการเสริมหน้าอก อยู่ที่การเลือกศัลยแพทย์ที่มีความรู้และชำนาญค่ะ เพราะแพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำทางเลือกที่เหมาะสม วางแผน และลงมือผ่าตัดอย่างปลอดภัย รวมถึงดูแลเมื่อเกิดปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนใด ๆ สิ่งที่ต้องดูเพื่อเลือกแพทย์ คือ

    • เป็นศัลยแพทย์ตกแต่งที่ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติเฉพาะทางเสริมความงาม
    • มีประสบการณ์การผ่าตัดเสริมหน้าอก (มากกว่า 5-10 ปี)
    • เชี่ยวชาญในเทคนิคการผ่าตัดแบบที่เราต้องการ มีเคสรีวิวจริงให้ดู
    • ให้บริการในสถานพยาบาลได้มาตรฐาน มีเครื่องมือทันสมัย ทีมงานพร้อม
    • ใส่ใจ เต็มใจให้ข้อมูล ตอบคำถาม และให้คำปรึกษาอย่างละเอียด
    • สามารถอธิบายขั้นตอน ผลลัพธ์คาดหวัง และภาวะแทรกซ้อนได้ชัดเจน
    • บุคลิกเป็นมิตร น่าเชื่อถือ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

    ความปลอดภัยในการผ่าตัด

    ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถป้องกันและลดทอนลงได้ หากได้รับการดูแลที่มาตรฐาน ทั้งในเรื่องของ

    สถานที่ผ่าตัด

    เป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกศัลยกรรมตกแต่ง ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย มีการควบคุมคุณภาพเข้มงวด

    ห้องผ่าตัด

    สะอาดปลอดเชื้อ อุปกรณ์ครบ ระบบไฟสำรองพร้อม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

    เครื่องมือ และ

    อุปกรณ์การแพทย์

    ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ผ่านการรับรองจาก อย. ทันสมัย ครบถ้วน และจำนวนเพียงพอ

    ยา เวชภัณฑ์

    เป็นยาขึ้นทะเบียนถูกต้อง เก็บรักษาเหมาะสม ไม่หมดอายุ

    บุคลากรทางการแพทย์

    มีศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลเฉพาะทาง ที่ผ่านการฝึกอบรมและได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

    การดูแลก่อนและหลังผ่าตัด

    ประเมินความพร้อมผู้ป่วย คัดกรองความเสี่ยง ให้คำแนะนำ และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

    การสื่อสารและให้ข้อมูล

    มีเอกสารยินยอมทำการรักษา (Informed Consent) อธิบายกระบวนการและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียด

    ราคา ค่าใช้จ่าย การเสริมหน้าอก

    เรื่องที่ส่งผลต่อราคา/ค่าใช้จ่ายการเสริมหน้าอก ประกอบด้วย

    • ประเภทถุงซิลิโคนที่ใช้ (ทรงกลม/ทรงหยดน้ำ/ผิวเรียบ/ผิวขรุขระ) ยี่ห้อและรุ่น
    • เทคนิคผ่าตัดที่เลือก (เหนือกล้ามเนื้อ/ใต้กล้ามเนื้อ/แบบผสม) และความยากง่าย
    • บุคลิกลักษณะและโครงสร้างร่างกายแต่ละบุคคล ที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขเพิ่มเติม
    • อุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมระหว่างผ่าตัด เช่น อุปกรณ์ช่วยใส่ถุง กล้องส่องผ่าตัด เครื่องจี้ห้ามเลือด
    • จำนวนวันพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (IPD) เพื่อเฝ้าระวังอาการ
    • ค่าประสบการณ์และชื่อเสียงของศัลยแพทย์ผู้รักษา
    • มาตรฐานของสถานพยาบาล สิ่งอำนวยสะดวก ระบบสาธารณูปโภค

    ตัวอย่างราคาใช้จ่ายโดยประมาณ เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนในไทย

    รายการ

    ราคาโดยประมาณ (บาท)

    ค่าถุงซิลิโคน

    30,000 – 180,000

    ค่าแพทย์ (รวมค่าผ่าตัดเสริมหน้าอก)

    60,000 – 200,000

    วิสัญญี

    15,000 – 30,000

    ห้องผ่าตัด

    20,000 – 50,000

    ยาและเวชภัณฑ์

    10,000 – 30,000

    ค่าห้องพักฟื้น (1-2 คืน)

    5,000 – 20,000

    ชุดซัพพอร์ตบรา

    1,000 – 3,000

    รวมค่าใช้จ่ายประมาณ

    141,000 – 513,000

    คำถามที่พบบ่อย เสริมหน้าอก

    การเสริมหน้าอกส่งผลต่อการให้นมบุตรหรือไม่?

    ไม่ส่งผลค่ะ เพราะถุงซิลิโคนและช่องที่ทำการผ่าตัด จะอยู่ด้านหลังต่อมสร้างน้ำนมและท่อน้ำนม ไม่ขวางการไหลเวียนของน้ำนม เว้นแค่แผลผ่าตัดรอบปานนม ที่ต้องระวังเรื่องความสะอาดกับการติดเชื้อในช่วงให้นมบุตรเท่านั้น

    ซิลิโคนเสริมหน้าอก อายุใช้งานนานแค่ไหน? ต้องเปลี่ยนเมื่อไร

    ซิลิโคนเสริมหน้าอกที่ใช้ปัจจุบัน สามารถอยู่ในร่างกายได้ตลอดอายุขัยค่ะ (Lifetime Device) ไม่มีกำหนดอายุใช้งานแน่นอน ไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนเป็นประจำ แต่แนะนำให้ตรวจหน้าอกกับแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง หากพบความผิดปกติ เช่น ซิลิโคนแตกรั่ว อาการแคปซูล หรือหน้าอกไม่เท่ากัน จะได้วางแผนแก้ไขต่อไป

    เสริมหน้าอกจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่?

    ปัจจุบันไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า การฝังถุงซิลิโคนในเต้านมจะส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น เพราะซิลิโคนเองก็เป็นวัสดุที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) แล้วค่ะ

    หลังเสริมหน้าอก สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ตามปกติไหม?

    ทำได้เหมือนเดิมค่ะ แค่ต้องแจ้งให้หมอกับเจ้าหน้าที่ทราบก่อนว่าเสริมหน้าอกมา เพื่อเลือกวิธีและเทคนิคการตรวจได้เหมาะสม เพราะจะมีวิธีการเฉพาะให้มองเห็นเนื้อเยื่อเต้านมได้ชัด ไม่มีถุงซิลิโคนมาบัง

    เสริมหน้าอกแล้ว ออกกำลังกายได้ตามปกติไหม?

    หลังผ่าตัดเสริมหน้าอก 6-8 สัปดาห์ และแผลหายดีแล้ว สามารถออกกำลังกายได้ค่ะ แต่แนะนำเริ่มจากออกกำลังกายแบบไม่กระแทกหรือใช้แรงมาก เช่น การเดิน ว่ายน้ำ หรือถีบจักรยานอัตราเบา ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มความหนักกับความเข้มข้นการออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไป

    กรณีรู้สึกเจ็บ ปวด หรือไม่สบายผิดปกติ ควรลดระดับการออกกำลังกายหรือหยุดพัก และปรึกษาแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น สำหรับผู้เล่นกีฬาอย่าง วิ่ง หรือเทนนิส ไม่แนะนำให้เล่นจนกว่าจะครบ 3 เดือนหลังผ่าตัด ส่วนกีฬาปะทะ เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ฟุตบอล ควรเว้นไว้ให้แผลหายสนิทดี 4-6 เดือน และระหว่างนี้ควรใส่เสื้อกีฬาชนิดซัพพอร์ตหน้าอก (Sports Bra) ที่มีฟองน้ำหรือวัสดุกันกระแทกเสริมด้านหน้าค่ะ

    ถุงซิลิโคนสามารถแตกหรือรั่ว ระหว่างเดินทางบนเครื่องบินได้ไหม?

    การเดินทางด้วยเครื่องบินไม่ส่งผลให้ถุงซิลิโคนแตกหรือรั่วง่ายขึ้น ทั่วไปสามารถทนแรงกดภายนอกได้มากถึง 25-30 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เทียบเท่ากับแรงกดใต้น้ำระดับความลึก 100 ฟุต แต่แนะนำควรปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัดก่อนการเดินทางทุกครั้ง เพื่อความสบายใจค่ะ

    ไม่พอใจผลลัพธ์หลังผ่าตัดเสริมหน้าอก แก้ไขอย่างไรได้?

    หากรู้สึกไม่พอใจรูปทรงหรือขนาดหน้าอกหลังผ่าตัด อันดับแรกคือปรึกษาศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดค่ะ เพราะหากพบข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัด ศัลยแพทย์จะมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและแก้ไขให้กว่าจะเป็นที่พอใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม

    แต่บางกรณี ที่เป็นเรื่องของรูปทรงหรือขนาดความต้องการ ซึ่งมีการผ่าตัดเพิ่มเติมจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นค่ะ แนะนำควรรอให้ครบ 6 เดือนหลังผ่าตัด เพื่อให้มั่นใจว่าเต้านมเข้าที่ที่สุดแล้ว

    สรุป

    การศัลยกรรมเสริมหน้าอก เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในรูปลักษณ์ให้กับผู้หญิง ที่ไม่สบายใจกับหน้าอกของตัวเอง ทั้งเรื่องขนาด รูปทรง สัดส่วน หรือความสมมาตร แต่การเสริมหน้าอกก็ไม่ใช่ทางออกของทุกปัญหา เพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายสูง การตัดสินใจเลยต้องมาจากเหตุผลที่ชัดเจน ไม่คล้อยตามแฟชั่นหรือคำชักชวนจากคนรอบข้าง

    เพราะไม่มีหน้าอกไหนที่สมบูรณ์แบบ และรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้บอกถึงคุณค่าภายในเสมอไป สำคัญคือเรื่องสุขภาพกับความปลอดภัย หากการเสริมหน้าอกจะช่วยให้เรารักและเห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น ก็เป็นทางเลือกที่ดีค่ะ

     

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

    ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    ยอมรับทั้งหมด
    จัดการความเป็นส่วนตัว
    • คุกกี้ที่จำเป็น
      เปิดใช้งานตลอด

      ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
      รายละเอียดคุกกี้

    • Google Analytic

      คุกกี้เก็บข้อมูลการใช้ของเว็บไซต์ด้วย Google Analytic

    บันทึกการตั้งค่า